7 คำถามเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ค้นหาคำตอบได้ที่นี่ | คู่ซี้โลจิสติกส์

สวัสดีครับเพื่อนๆ โลจิสติกส์คืออะไร ไขข้อข้องใจกันได้ที่นี่ เดี๋ยวนี้เลย...


จากข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นมาของคำว่าโลจิสติกส์ วันนี้เรามีคำตอบให้ตามด้านล่างดังต่อไปนี้ครับ

เริ่มจากคำถามภาคภาษาอังกฤษกันก่อน

1.Could you explain 'What's the difference between Inbound and Outbound?
2.In your opinion, what is a good delivery?
3.How to manage plan layout?
4.How to manage waste products?
5.Could you explain what is the Properness of the warehouse?
6.What is the specification of security?
7.How would you describe your management style?

คราวนี้เรามาดูคำแปลด้วยกันครับ

1. คุณช่วยอธิบายได้ไหมว่า 'Inbound และ Outbound ต่างกันอย่างไร?
2. ในความคิดของคุณการจัดส่งที่ดีคืออะไร?
3. จะจัดการรูปแบบแผนผังอย่างไร?
4. จัดการของเสียอย่างไร?
5. คุณช่วยอธิบายได้ไหมว่าความเหมาะสมของคลังสินค้าคืออะไร?
6. ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยคืออะไร?
7. คุณจะอธิบายรูปแบบการบริหารของคุณอย่างไร?

เอาหละครับ เมื่อเราเห็นคำถามกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราจะค้นหาคำตอบหรือความหมายทีละประโยคไปด้วยกันเลยครับ

1. คุณช่วยอธิบายได้ไหมว่า 'Inbound และ Outbound' ต่างกันอย่างไร?

Inbound Logistics

โลจิสติกส์ขาเข้า หมายถึง การขนส่ง การจัดเก็บ และการรับสินค้าเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งที่นำเข้านั้นได้แก่ สินค้า วัตถุดิบ สิ่งของใดๆ 

กรณีกิจการด้านขนส่ง Inbound หมายถึง การขนส่งสำหรับขาเข้า เช่น ขนส่งสินค้า เช่น ทีวี โทรศัพท์มือถือ จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเป็นต้น ซึ่ง Inbound จะล้อไปกับคำว่า Import (นำเข้าสินค้า) เพราะเมื่อมีการสั่งสินค้าเพื่อนำเข้ามาก็จะต้องใช้บริการโลจิสติกส์ด้าน Inbound อย่างนี้เป็นต้น

กรณีกิจการด้านคลังสินค้า Inbound หมายถึง การดำเนินกิจกรรมคลังสินค้าส่วนขาเข้า เช่น การรับสินค้า การคัดแยก (Sorting) ก่อนจัดเก็บ การนำสินค้าเข้าจัดเก็บในตำแหน่งสำหรับเก็บสินค้า (Location) เป็นต้น

Outbound Logistics
 
โลจิสติกส์ขาออก หมายถึง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตรงกันข้ามกับขาเข้านั่นเอง

กรณีกิจการด้านขนส่ง Outbound หมายถึง การขนส่งเพื่อขาออก เช่น ขนส่งสินค้า เช่น ปุ๋ย เครื่องดื่ม ฯ จากภายในประเทศเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ หรือขนจากสินค้าออกจากสถานแห่งหนึ่งไปยังปลายทางแห่งใดแห่งหนึ่ง

กรณีกิจการด้านคลังสินค้า Outbound หมายถึง การดำเนินกิจกรรมคลังสินค้าส่วนขาออก เช่น การหยิบสินค้า (Picking) การคัดแยก (Sorting) การตรวจเช็ค (Checking) การจัดวางเพื่อเตรียมส่ง (Staging) การนำสินค้าขึ้นรถเพื่อขนส่ง (Loading) อย่างนี้เป็นต้น

2. ในความคิดของคุณการจัดส่งที่ดีคืออะไร?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า การเคลื่อนย้ายสินค้านั้นมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น ขนส่งทางเรือ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางท่อ เป็นต้น ดังนั้น การขนส่งที่ดีต้องเลือกวิธีใดๆที่เหมาะสมกับสินค้า ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่ง (Delivery time) และที่สำคัญคือต้องเป็นการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ ประหยัด รวดเร็ว ปลอดภัย นั่นเองครับ

3. จะจัดการรูปแบบแผนผังอย่างไร?

ถ้าจะกล่าวถึงการจัดแบบแผนผังขนส่ง จะต้องมีการกำหนดแหล่งผลิตหรือต้นทางและแหล่งจำหน่ายหรือปลายทางเสียก่อน และต้องดูความต้องการสินค้าหรือความสามารถในการจัดเก็บของคลังสินค้าต้นทางปลายทางประกอบด้วย ต่อจากนั้นค่อยนำสูตรการขนส่งมาใช้ซึ่งวันนี้จะยังไม่กล่าวถึง

อย่างไรก็ดี จะกล่าวถึงรูปแบบแผนผังขนส่งซึ่งมีอีกหลายรูปแบบมากล่าวไว้ในที่นี้ 2 ประการซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ซึ่งก็คือ 

1. การพิจารณาการขนส่งแบบขนสินค้าเที่ยวกลับ (Backhaul) เป็นการไม่บรรทุกเที่ยวเปล่าขากลับ ดังนั้นจะต้องวางรูปแบบหรือจัดระบบการขนให้ Match กันกับเที่ยวรถที่มีอยู่ใน Fleet ของหน่วยงาน

2. การพิจารณาการขนส่งแบบ Milk runs ลักษณะคล้ายกับการส่งนมในฟาร์มที่คนส่งนมจะวนส่งนมไปให้ลูกค้าตามจุด บ้านลูกค้า หรือห้างร้านตาม order จากนั้นคนส่งนมก็จะต้องนำขวดนมเก่าที่ได้รับคืนจากลูกค้ามาบรรจุใส่นมใหม่และไปส่งอีกตามรอบเวลาที่นัดหมายกันไว้กับลูกค้า

ต่อไปจะกล่าวถึงรูปแบบแผนผังคลังสินค้า

การกำหนดผังพื้นที่คลังสินค้า หมายถึงกระบวนการออกแบบการไหลของสินค้า (Flow) ซึ่งประกอบพร้อมกับกิจกรรมการทำงานในคลังสินค้า (Handling) 


รูปตัวอย่าง แสดงแผนผังคลังสินค้า


รูปแสดงตัวอย่างแผนผังพื้นที่คลังสินค้า

แผนผังคลังสินค้าโดยทั่วไปจะประกอบด้วยแผนผังกิจกรรม 5 ประเภท ดังนี้

1 ผังแสดงพื้นที่ทางเข้า-ออกของตัวอาคารคลังสินค้า

2 ผังแสดงพื้นที่ในการรับสินค้า

3 ผังแสดงพื้นที่จัดเก็บสินค้า

4 ผังแสดงพื้นที่การควบคุมการปฏิบัติการ

5 ผังแสดงพื้นที่ในการจัดส่งสินค้า

ความหมายแผนผังกิจกรรม 5 ประเภท

ᳱ ผังแสดงพื้นที่ทางเข้า-ออกของตัวอาคารคลังสินค้า

พื้นที่ทางเข้า-ออก หมายถึงประตูของตัวอาคารคลังสินค้าที่กำหนดทางเข้า-ออกของสินค้าไว้ การกำหนดพื้นที่ทางเข้าและทางออกควรแยกกันเพื่อความชัดเจนในการรับรู้ว่าสินค้าที่เข้าออกนั้นเป็นสินค้าขา Inbound หรือ Outbound และยังเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการสวนทางกันของรถยกหรืออุปกรณ์เคลื่อนย้ายสินค้าอีกด้วย

ᳱ ผังแสดงพื้นที่ในการรับสินค้า

พื้นที่สำหรับรับสินค้าเป็นการกำหนดตั้งแต่จุดที่รถบรรทุกเข้ามาจอดบริเวณที่กำหนดคือลานนำสินค้าลง 

พื้นการรับสินค้าอาจแยกย่อยได้ 

1 ชานชาลา (Platform) รับสินค้า สำหรับอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการรับสินค้า
2 พื้นที่สำหรับการตักสินค้าลง (Unloading area)
3 พื้นที่พักสินค้า (Inbound staging area) พื้นที่สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของสินค้าก่อนนำสินค้าเข้าเก็บในคลังสินค้า

ᳱ ผังแสดงพื้นที่จัดเก็บสินค้า (Storage/Cargo space)

การจัดเก็บอาจพิจารณาตามความเหมาะสมของประเภทสินค้า ซึ่งแบบการจัดเก็บมีดังตัวอย่างบางส่วนดังนี้ คือ

1 จัดเก็บแบบกองบนพื้น Floor stack
2 จัดเก็บแบบชั้นวางตอนลึก (Drive-in Rack)
3 จัดเก็บแบบชั้นวางเลือกหยิบ (Selective Rack) ลักษณะเป็นชั้นวางสินค้าแบบหน้ากระดาน
4 แบบอื่นๆ 

ᳱ ผังแสดงพื้นที่การควบคุมการปฏิบัติการ

เป็นผังแสดงการใช้พื้นสำหรับการควบคุมการปฏิบัติการงานในคลังสินค้า เช่น 

พื้นที่ Receiving Station สถานีจุดรับสินค้า
พื้นที่ Picking Station สถานีจุดหยิบสินค้า
พื้นที่จัดการสินค้าชำรุดเสียหาย Damaging area

ᳱ ผังแสดงพื้นที่ในการจัดส่งสินค้า

คือพื้นที่ที่จัดไว้สำหรับการปฏิบัติงานด้านการจัดส่งสินค้า เช่น

1 พื้นที่สำหรับการคัดแยกสินค้า (Sorting area)
2 พื้นที่สำหรับรอการตรวจสอบสินค้าขาออก (Outbound staging area) 
3 พื้นที่สำหรับการนำสินค้าขึ้นรถบรรทุกสินค้า (Loading area)

4. จัดการของเสียอย่างไร?

ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตบางอย่างสามารถนำไปแปลรูปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่แตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท เช่น โรงงานผลิตสุรา มีของเสียคือกากส่า การจัดการกับกากส่าสามารถทำได้โดยนำไปสู่กระบวนการผลิตเป็นปุ๋ยเป็นต้น ซึ่งจะเรียกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรสภาพมาจากของเสียว่า By-product แปลว่า ผลผลิตพลอยได้

5. คุณช่วยอธิบายได้ไหมว่าความเหมาะสมของคลังสินค้าคืออะไร?

คลังสินค้าที่เหมาะสมหมายถึง คลังที่มีขนาด จุดตั้ง ผังการจัดเก็บ การขนย้าย การขนส่งที่เหมาะกับสินค้าที่จะจัดเก็บในคลังนั้นๆ 

การพิจารณาถึงคลังที่มีความเหมาะอาจเอาตัวสินค้าเป็นตัวตั้งก็ได้ เช่น สินค้าเป็นสินค้าแช่แข็ง ต้องเก็บในห้องเย็น ดังนั้นก็ต้องพิจารณาออกแบบเป็นกรณีที่เหมาะกับสินค้าที่ต้องจะเก็บเป็นต้น

ขอกล่าวถึงกรณีอื่นๆ เช่น ความเหมาะสมของคลังอาจต้องดูที่พื้นที่การจัดเก็บ ต้องให้มีความพอเหมาะกับปริมาณหรือขนาดของรูปแบบสินค้าที่จะจัดเก็บ ต้องไม่เล็กเกินไปเพราะจะทำให้การเคลื่อนย้ายไม่สะดวก แต่ถ้าหากใหญ่เกินไปก็จะเป็นการเสียพื้นที่โดยไปไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นสูญเปล่า Waste ไปโดยใช่เหตุ

6. ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยคืออะไร?

ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่อยู่ในบังคับของกฏหมาย ดังนั้น ต้องพิจารณาและปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฏหมายที่บัญญัติไว้เพื่อเป็นการควบคุมธุรกิจหรือกิจการนั้นๆ

นอกเหนือจากต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฏหมายที่กำหนดไว้แล้ว กิจการอาจพิจารณากำหนดการปฏิบัติของพนักงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับประเภทของธุรกิจเพิ่มเติมด้วยก็จะเป็นการดี เช่น กฏหมายกำหนดให้มีถังดับเพลิงทุกๆระยะความห่างไม่เกิน 45 เมตร บริษัท หรือกิจการ ห้างร้านอาจติดตั้งทุกระยะ 30 เมตรก็ได้ 

7. คุณจะอธิบายรูปแบบการบริหารของคุณอย่างไร?

รูปแบบบริหารโดยภาพรวม คือต้อง ประหยัด ปลอดภัย รวดเร็ว ทันเวลา ส่วนรายละเอียดแต่หัวข้อต้องพิจารณาศึกษาในข้อมูลเชิงลึกเป็นประเด็นๆไป ยกตัวอย่าง เช่น รถบรรทุกต้องขับความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. เป็นต้น

เรื่องราวของโลจิสติกส์นั้นน่าสนใจและมีประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการงานในเกือบทุกแขนง ถ้าเพื่อนๆสนใจ สามารถติดตามได้ที่นี่ครับ เพราะเรามีการเขียนบทความต่างๆ รวมทั้งมีลิงค์ให้เพื่อนๆลองคลิกเข้าไปอ่านค้นหาคำตอบต่างๆได้

หากว่าไม่พบในสิ่งที่ต้องการ เพื่อนๆสามารถเขียนคำถามทิ้งไว้ด้านล่างนี้ได้เลย แล้วเราจะกลับมาตอบให้อย่างแน่นอนครับ

แล้วพบกันใหม่ครับ

สวัสดี

Thanks for reading.

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม